เนื่องด้วยในปัจจุบัน ประเทศไทยมีการพัฒนางานอุตสาหกรรมหรือการเติบโตของธุรกิจต่าง ๆ มากขึ้น ซึ่งตามมาด้วยความต้องการแรงงานมากขึ้น แต่ถ้างานนั้นแรงงานไทยไม่สามารถทำได้ด้วยหลายปัจจัยที่แตกต่างกันไป อีกทางเลือกหนึ่งของนายจ้างคือ..การจ้างแรงงานต่างด้าว ส่วนใหญ่แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยจะเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกัน คือ พม่า ลาว และกัมพูชา และเมื่อนายจ้างมีความต้องการที่จะจ้างแรงงานต่างด้าวมาทำงาน เอกสารหรือหลักฐานประจำตัวของแรงงานจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เพื่อให้ลูกจ้าง “มีหลักฐาน” ให้นายจ้าง “ตรวจสอบได้” และ ให้ทางรัฐบาล “ยืนยันตัวตน” ว่าบุคคลนั้นจะเป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งตามหลักสากล แรงงานที่จะเข้ามาทำงานในประเทศนั้นๆ จะต้องมีหนังสือเดินทาง วีซ่าการทำงาน และใบอนุญาตทำงาน อ่าน ๆ ดูแล้วท่านอาจเกิดข้อสงสัยมากขึ้น งั้นวันนี้เราค่อย ๆ ไปทำความรู้จัก เอกสารต่าง ๆ ไปพร้อม ๆ กันค่ะ
หนังสือเดินทาง (PASSPORT)
คือเอกสารสำคัญประจำตัวที่รัฐบาลประเทศหนึ่งซึ่งออกให้แก่พลเมืองหรือคนในชาติของตนเพื่อใช้แสดงตนในการเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อให้ประเทศนั้นๆได้มีการอำนวยความสะดวกในเรื่องของความปลอดภัย หรือการให้ความช่วยเหลือ ความคุ้มครองทางกฎหมายขณะที่พลเมืองของตนอยู่ในประเทศนั้นๆ หนังสือเดินทางต้องได้รับการประทับการตรวจลงตราหรือวีซ่าจากหน่วยงานของประเทศ เว้นแต่จะมีความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราระหว่างประเทศ หนังสือเดินทางของแต่ละประเทศก็มีความแตกต่างกัน เราไปดูประเภทของหนังสือเดินทาง (PASSPORT) แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ
V สัญชาติลาว V
– International Passport มีลักษณะเป็นเล่มสีน้ำเงิน มีอายุ 10 ปี สามารถทำMOUได้
– Certificate of Identity (CI) ลักษณะเป็นเล่มสีเขียวอ่อน เป็นพาสปอร์ตชั่วคราว ไม่สามารถทำMOUได้ และหลังจากนี้หนังสือเดินทางประเภทนี้จะถูกยกเลิกไป
V สัญชาติกัมพูชา V
– International Passport ลักษณะเป็นเล่มสีเลือดหมู มีอายุ 10 ปี สามารถทำMOUได้
– Travel Document (TD) ลักษณะเป็นเล่มสีดำ มีอายุ 5 ปี สามารถทำMOUได้ แต่ไม่สามารถทำวีซ่าประเภทท่องเที่ยวได้ (เล่มนี้ไว้ใช้เฉพาะทำงานในประเทศไทยเท่านั้น)
V สัญชาติพม่า V
-Certificate of Identity (CI) ลักษณะเป็นเล่มสีเขียวอ่อน เป็นพาสปอร์ตชั่วคราว มีอายุ 4 ปี ไม่สามารถทำ MOUได้
-Inter passport ลักษณะเป็นเล่มสีแดง มีอายุ 5 ปี สามารถทำ MOU ได้
-Job Passport (PJ) สมุดแบบทำงาน แบบที่สามารถทำ MOUได้ จะต้องเป็นแบบ PJ MYANMAR
-Visit Passport (PV) สมุดแบบท่องเที่ยว ไม่รองรับการทำ MOU
วีซ่า (VISA)
คือเอกสารที่ประเทศใดประเทศหนึ่งออกให้บุคคลที่ได้รับการพิจารณาให้สามารถเข้าประเทศผู้ออกตรวจลงตราได้ภายในระยะเวลาหรือจุดประสงค์ที่บุคคลนั้นยื่นคำร้องขอไว้ ใช้แสดงต่อเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองขณะเข้าประเทศที่ได้ยื่นขอวีซ่าไว้ โดยปกติแล้วรูปแบบจะมีการประทับตราลงหนังสือเดินทาง (passport) *เป็นสติ๊กเกอร์ หรือ ตราประทับ หรืออาจอยู่ในรูปแบบที่ไม่ได้ประทับลงในหนังสือเดินทาง ซึ่งปัจจุบันบางประเทศมีการลงตราประทับเป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์โดยเชื่อมโยงข้อมูลผ่านทางเครือข่ายคอมพิวเตอร์
ประเภทของวีซ่าที่เข้ามาทำงาน
1.วีซ่าท่องเที่ยว (Tourist Visa) ไม่สามารถทำงานได้ ผิดกฎหมาย
2.วีซ่าทำงาน (NON L-A Visa) สามารถทำงานได้ ไม่ผิดกฎหมาย แรกเริ่มมีอายุ 2 ปี และต่อได้ อีก 2 ปี รวมแล้วอยู่ได้ 4 ปี
ใบอนุญาตทำงาน (WORK PERMIT)
คือเอกสารที่ออกให้แก่ชาวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทย ที่มีจุดประสงค์เพื่อประกอบธุรกิจ ประกอบกิจการ หรือเข้ามาเป็นลูกจ้าง เพื่อเป็นการยืนยันว่าบุคคลเหล่านั้นสามารถทำงานได้ โดยถูกต้องตามกฎหมาย ใบอนุญาตทำงานแต่ละชนิดจะสอดคล้องกับงานที่แตกต่างกันเช่นเดียวกับระยะเวลาในการทำงานภายใต้พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าวของไทย พ.ศ.2551 มีลักษณะเป็นเล่มสีน้ำเงินหรือบัตรแข็งที่เรียกวา “E-WORK PERMIT” เป็นใบอนุญาตทำงานสามารถดำเนินการยื่นขอต่ออายุก่อนใบอนุญาตหมดอายุ 1 เดือน และสามารถต่อใบอนุญาตทำงานได้ครั้งละไม่เกิน 2 ปี
ประเภทใบอนุญาตทำงาน
1.ใบอนุญาตทำงานประเภทที่ได้รับอนุญาตโดยทั่วไป (WP.1) จะออกให้แก่ชาวต่างชาติที่ถือได้ว่าเป็นแรงงานฝีมือหรือผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่ระบุและผู้ที่จะทำงานในประเทศไทยเป็นระยะเวลานาน
2.ใบอนุญาตทำงานใบอนุญาตทำงานชั่วคราว (WP.11) ออกให้กับชาวต่างชาติที่ทำงาน “จำเป็นหรือเร่งด่วน” และเป็นระยะเวลาสั้นๆ “งานที่จำเป็นและเร่งด่วน” นี้แบ่งออกเป็น 6 ประเภทดังนี้ 1.) งานธุรการและการศึกษา 2.) งานด้านเทคนิค 3.) บริการจัดหางานในต่างประเทศ 4.) บริการทางกฎหมายหรือคดีทางกฎหมาย 5.) งานอื่นๆ
การจ้างแรงงานต่างด้าวสามารถทำได้ไม่ยาก เพียงแต่ต้องมีความรอบคอบเกี่ยวกับเอกสารต่าง ๆ ตามที่ได้อธิบายไปข้างต้น คือแรงงานที่จะเข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมาย จะต้องมีหนังสือเดินทาง (PASSPORT) วีซ่า (VISA) และ ใบอนุญาตทำงาน (WORK PERMIT) ซึ่งทั้ง 3 ส่วนนับว่ามีความสำคัญต่อแรงงานต่างด้าว นายจ้าง และทางรัฐบาลเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นหลักฐานสำคัญที่ช่วยระบุตัวตนว่าบุคคลนั้นเป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมายจริง ซึ่งวิธีการข้างต้นก็จะช่วยให้นายจ้างจะดูเอกสารแรงงานต่างด้าวได้อย่างถูกต้องมากขึ้น