ถึงเวลาที่ MOU แรงงานต่างด้าวไปต่อได้แล้วหรือยัง

นับตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2563 เป็นวันแรกที่ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด 19 ในประเทศเป็น 0 ในรอบ 4 เดือน และยังคงรักษาสถิติผู้ติดเชื้อภายในประเทศเป็น 0 ติดต่อกัน เป็นระยะเวลา 50 วันโดยไม่เจอผู้ติดเชื้อในประเทศ ซึ่งเท่ากับว่าคนที่อยู่ในประเทศไทย ตอนนี้ไม่มีผู้ติดเชื้อแล้ว แต่ถ้าติดตามข่าวทุกวันมักจะพบว่ายังคงมีผู้ติดเชื้อเกือบทุกวัน แต่เป็นผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศเพื่อเข้าประเทศไทย ผ่านการคัดกรองกักตัว 14 วันและมีการตรวจพบในระหว่างกักตัว รัฐได้เปิดใช้มาตรการดังกล่าวมาตั้งแต่ต้นเดือน เมษายน ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่ามาตรการ กักตัว 14 วันของรัฐใช้ได้ผลและมีประสิทธิภาพ โดยที่ไม่มีผู้ติดเชื้อผ่านการคัดกรองเข้ามาในประเทศไทย จนบัดนี้เป็นระยะเวลา 50 วันที่ไม่มีผู้ติดเชื้อ

รายงานผู้ป่วยใหม่ศูนย์ราย ครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2563

สถานการณ์แรงงานต่างด้าว มีแรงงานต่างด้าวบางส่วนเดินทางกลับบ้านตั้งแต่ประเทศไทยเริ่มมีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 เพราะกังวลเรื่องความปลอดภัยและถือโอกาสกลับไปเยี่ยมบ้านเนื่องจากเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมาก็ยังไม่สามารถกลับเข้ามาในประเทศไทยได้ ปัจจุบันทางภาครัฐเองก็ได้อนุญาติผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวที่มีความจำเป็นสามารถเดินทางกลับประเทศภูมิลำเนาของตนเองได้ ทำให้มีแรงงานต่างด้าวเริ่มทยอยกลับบ้านเรื่อยๆ เพราะตกงานหรือกิจการเลิกจ้างเพราะนายจ้างปิดกิจการ บางส่วนก็กังวลนโยบายที่ไม่ชัดเจนของรัฐที่เกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว เพราะไม่อยากอยู่อย่างผิดกฎหมาย

แรงงานพม่าแห่งกลับบ้าน เนื่องจากถูกเลิกจ้างเพราะโควิด ที่มาไทยรัฐนิวส์

โดยสภาวะปกติแล้วการหมุนเวียนแรงงานจะมีทั้งเข้าและออก แต่เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันเรามีแต่แรงงานออก ไม่มีแรงงานเข้า ฉะนั้นแรงงานในประเทศก็จะทยอยลดลงไปเรื่อยๆ พอภาครัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ทำให้ธุรกิจบางอย่างกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ อัตราการใช้แรงงานก็เพิ่มสูงขึ้น แต่แรงงานบางส่วนได้กลับบ้านไป เนื่องจากนายจ้างหยุดกิจการชั่วคราว และเพราะแตกตื่นเรื่องโควิด 19 ที่ระบาดในประเทศไทยตอนนั้น จึงเกิดสภาวะขาดแคลนแรงงานอย่างเห็นได้ชัดเมื่อรัฐเริ่มมีมาตรการผ่อนคลายใน เฟส 5 จะเห็นได้ว่า ระยะหลังๆ ได้มีข่าวการลักลอบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย อยู่เสมอทำให้ภาครัฐต้องออกมาตรวจเข้มตามสถานที่ต่างๆ ป้องกันแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าประเทศ เพราะกลัวการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ถ้าเข้ามาโดยไม่ผ่านการคัดกรองจากหน่วยงานของรัฐ

จับต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย ที่มาสยามรัฐ

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะให้แรงงานต่างด้าวกลับเข้าประเทศไทย เพื่อมาทำงานกับนายจ้าง ที่เริ่มกลับมาเปิดกิจการได้ตามปกติหลังจากหยุดกิจการชั่วคราว หรือ แม้กระทั้งแรงงานนำเข้า MOU เพื่อนำมาทดแทนแรงงานที่กลับออกไป ผมเคยเขียนบทความชื่อ แรงงานต่างด้าวแย่งงานคนไทย จริงหรือ เพราะเท่าที่ผมมองและวิเคราะห์มีแค่สองประเด็น คือ “การสงวนงานให้กับคนไทยที่ตกงาน” แต่ถ้าเราเข้าใจจริงๆ ว่างานกรรมกร เป็นงานที่เราขาดแคลนแรงงาน ก็ไม่ควรเป็นประเด็น มีอีกประเด็นคือ การนำเข้าแรงงานต่างด้าวจะนำเชื้อโควิด 19 เข้ามาระบาดติดคนในประเทศ แต่ถ้าเทียบกับประเทศแถบอื่นๆ นับว่าประเทศ พม่า ลาว กัมพูชา ยังพบผู้ติดเชื้อไม่มาก หรือแม้กระทั่งเราไม่แน่ใจในระบบสาธารณสุขของประเทศต้นทาง ก็สามารถใช้มาตรการเดียวกันที่ใช้ได้ผลอยู่ คือ ให้เข้ามาโดยจำกัดจำนวน และ กักตัว 14 วัน อย่างน้อยก็เปิดช่องทางได้หายใจทั้งนายจ้างและลูกจ้าง จะได้ไม่ต้องลักลอบหนีเข้ามาซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรค การกักตัว 14 วัน จะทำให้ต้นทุนการใช้แรงงานต่างด้าวสูงกว่าแรงงานไทยเป็นอย่างมาก ก็เป็นข้อพิสูจน์แล้วว่าการที่นายจ้างยอมรับมาตรการที่ยุ่งยากและค่าใช้จ่ายที่สูงนั้น แสดงว่ามีความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้แรงงานต่างด้าวจริงๆ

เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญอย่างที่เคยกล่าวไปในบทความที่แล้ว (แรงงานต่างด้าวแย่งงานคนไทย จริงหรือ) ภาคธุรกิจที่ยังเป็นเครื่องจักรหารายได้เข้าประเทศ คือ ภาคอุตสาหกรรมและเกษตรจำเป็นต้องใช้แรงงานคนต่างด้าว ในงานที่คนไทยไม่ทำ ยิ่งประวิงเวลาจะยิ่งขาดแคลนแรงงานเพิ่ม อย่าลืมว่า ต่างด้าวกลับประเทศตนเองวันละหลายร้อยคน แต่การที่เราจะนำเข้าคนมาทดแทนอาจจะใช้เวลาจากเดิมกระบวนการนำเข้า MOU แรงงานต่างด้าว ต้องใช้เวลาประมาณ 2 เดือนสำหรับลาวกับกัมพูชา ส่วนพม่าใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ซึ่งหมายความว่าขั้นตอนดังกล่าวต้องบวกเวลากักตัวไปอีก 14 วัน ต้องใช้ระยะเวลาเพิ่มขึ้นไปอีก และจำนวนต่างด้าวที่เข้ามาแต่ละด่านก็จำกัด เพราะต้องคำนึงที่พักสำหรับกักตัว กระบวนการขั้นตอนหน้าด่านที่เพิ่มขึ้น และ มาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม (social distancing) จะทำให้อัตราแรงงานออกเร็วกว่าอัตราแรงงานเข้าหลายเท่าตัว ถ้าไม่รีบวางแผนรับมือตั้งแต่วันนี้

สุดท้ายนี้ ผมเชื่อว่า ไม่ว่านายจ้าง หรือ ลูกจ้าง ไม่มีใครอยากทำผิดกฎหมาย ในเมื่อชีวิตต้องเดินต่อไป ไม่สามารถหยุดเวลาไว้ได้ แต่ละคนก็มีความจำเป็นแตกต่างกันไป นายจ้างก็ต้องทำเพื่อให้ธุรกิจกลับมาเดินได้เต็มที่ ลูกจ้างก็อยากได้เงินได้งาน ทุกคนมีภาระที่ต้องดูแล อย่างน้อยถ้าเปิดช่องทางที่ถูกกฎหมายไว้ ก็ช่วยให้การลักลอบเข้าเมืองน้อยลง เป็นการช่วยป้องกันการแพร่ระบาดโรคนี้ไปในตัว