การต่อใบอนุญาตทำงาน 2 ปี

ใบอนุญาตทำงานคือ เอกสารที่ออกให้แก่ชาวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทย ที่มีจุดประสงค์เพื่อประกอบธุรกิจ ประกอบกิจการ หรือเข้ามาเป็นลูกจ้าง เพื่อเป็นการยืนยันว่าบุคคลเหล่านั้นสามารถทำงานได้ถูกต้องตามกฎหมาย ใบอนุญาตทำงานแต่ละชนิดจะสอดคล้องกับงานที่แตกต่างกันเช่นเดียวกับระยะเวลาในการทำงานภายใต้พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าวของไทย พ.ศ.2551 มีลักษณะเป็นเล่มสีน้ำเงินหรือบัตรแข็งที่เรียกว่า “E-WORK PERMIT” เป็นใบอนุญาตทำงาน นั้นเอง

       ขั้นตอนกระบวนการ MOU ของลูกจ้างที่เป็นแรงงานต่างด้าว ได้สิทธิในการทำงาน 4 ปี แต่จะได้ครั้งแรกคือ 2 ปี หลังจากครบ 2 ปีแรก สามารถขอทำงานต่อได้อีก 2 ปี สามารถดำเนินการยื่นขอต่ออายุ ก่อนใบอนุญาตหมดอายุ 1 เดือน และสามารถต่อใบอนุญาตทำงานได้ครั้งละไม่เกิน 2 ปี

       ซึ่งในปัจจุบันหลายๆท่านยังคงไม่เข้าใจ ว่าการต่อใบอนุญาต 2 ปีหลังนั้นสำคัญ และไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรด้วย หากเป็นเช่นนั้น อาจทำให้เกินการเสียค่าปรับ หรือถึงขั้นต้องกลับไปทำ MOU ใหม่ ทำให้เสียเวลาเพิ่ม และเสียสิทธิตรงนั้นไปเลย ดังที่กล่าวไปในข้างต้น ควรต่อใบอนุญาตก่อนหมดอายุ 1 เดือน เพราะว่าขั้นตอนต้องใช้เวลาพอสมควร หลักๆแล้วก็จะมีทั้งหมด 3 ขั้นตอนด้วยกัน

3 ขั้นตอนการต่อใบอนุญาตทำงาน 2ปี

1. ตรวจร่างกาย

ผู้เป็นนายจ้างพาแรงงานต่างด้าวของท่านไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลก่อน สามารถตรวจได้ทั้งโรงพยาบาลรัฐบาล และเอกชน แต่ต่างจังหวัดบางพื้นที่ก็ให้ใช้ได้แต่โรงพยาบาลรัฐบาล ใช้ใบรับรองแพทย์ 2ชุด ราคาก็แล้วแต่โรงพยาบาล (การต่อใบอนุญาตนั้นต้องใช้ใบรับรองแพทย์พร้อมใบเสร็จที่จ่ายเงินกับทางโรงพยาบาลด้วย)

2. ไปต่อวีซ่าที่ (สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง)

โดยการนำเล่มพาสปอร์ตไปยื่นขอต่อวีซ่าที่ตม.พื้นที่ของท่านหรือตม.จังหวัดของท่านได้เลย พื้นที่เขตกรุงเทพมหานครสามารถดำเนินการได้ที่ศูนย์บริการแรงงานต่างด้าวได้ที่ บิ๊กซีราษฏร์บูรณะ บิ๊กซีสะพานใหม่  อิมพีเรียลลาดพร้าว ส่วนต่างจังหวัดสามารถดำเนินการได้ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองประจำจังหวัด

3. ไปต่อใบอนุญาตทำงานที่สำนักงานจัดหางานเขตพื้นที่ตามท้องที่หรือจังหวัดของท่าน

เมื่อมีใบรับรองแพทย์และต่อวีซ่ามาเรียบร้อยแล้วก็ไปต่อใบอนุญาตทำงานได้เลย ส่วนเอกสารและหลักฐานประกอบการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานมีดังนี้

1.) แบบคำขอ ตท.2 (กรอกข้อมูลให้ให้ละเอียด *หน้าที่6 ต้องให้ต่างด้าวเซ็นชื่อ หรือพิมพ์ลายนิ้วมือ )

2.) แบบหนังสือรับรองการจ้าง (นายจ้างเซ็น*หากเป็นนิติบุคคลให้กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม+ประทับตรา)

3.) สัญญาจ้างแรงงาน (หน้าสุดท้ายสำหรับนายจ้าง ลูกจ้าง และพยานเซ็น)

     *หากเป็นนิติบุคคลให้กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม+ประทับตรา

4.) เอกสารแรงงานต่างด้าว

    4.1) สำเนาใบคำขอ,ใบเสร็จรับเงิน หรือสำเนาใบอนุญาตทำงาน (พร้อมตัวจริง)

    4.2) สำเนาหนังสือเดินทาง(PASSPORT) + ทุกหน้าที่มีประทับตราวีซ่าทำงาน (พร้อมตัวจริง)

    4.3) ใบรับรองแพทย์ตัวจริง+ใบเสร็จที่จ่ายเงินกับทางโรงพยาบาล *ตัวจริง

    4.4) รูปถ่ายแรงงานต่างด้าว แบบสุภาพใส่เสื้อคอปก พื้นหลังสีขาว 3-4 ใบ

5.) หนังสือมอบอำนาจจากต่างด้าว*กรณีคนต่างด้าวไม่มาดำเนินการเอง  (ต่างด้าวเซ็น)

6.) เอกสารนายจ้าง

    6.1) กรณีนิติบุคคล

     – สำเนาหนังสือรับรองบริษัทอายุไม่เกิน 3 เดือน

     – สำเนาบัตรประชาชนกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม

     – สำเนาทะเบียนบ้านกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม

    6.2)  กรณีบุคคลธรรมดา

     – สำเนาบัตรประชาชน/สำเนาทะเบียนบ้าน/สำเนาใบทะเบียนพาณิชย์(ถ้ามี)

     *ถ้าไม่ได้เป็นเจ้าบ้าน แนบเอกสารเจ้าบ้านพร้อมใบยินยอมให้ใช้สถานที่

7.) แผนที่สถานที่ทำงาน ใช้ทั้งกรณีนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา

8.) หนังสือมอบอำนาจจากนายจ้าง*กรณีนายจ้างไม่มาดำเนินการเอง

   (นายจ้างเซ็น*หากเป็นนิติบุคคลให้กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม+ประทับตรา)

9.) เอกสารผู้รับมอบ

    9.1) สำเนาบัตรประชาชนผู้รับมอบ (ผู้รับมอบเซ็น)

    9.2) กรณีมอบอำนาจให้บุคลากรของบริษัทนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ ให้มีเอกสาร

          เพิ่มเติมเช่น สำเนาใบนจ. / สำเนาหนังสือรับรองบริษัท / สำเนาบัตรประจำตัวลูกจ้าง / อื่น ๆ

* หมายเหตุ1 สำเนาเอกสารทุกฉบับต้องลงลายมือชื่อรับรอง

นายจ้าง : กรณีบุคคลนายจ้างเซ็นปกติ ส่วนกรณีนิติบุคคลให้ผู้มีอำนาจลงนามและประทับตราบริษัท(ถ้ามี)

ต่างด้าว : ให้คนต่างด้าวลงลายมือชื่อ หรือพิมพ์ลายนิ้วมือ

* หมายเหตุ2 ทั้งหมดเป็นเพียงเอกสารและวิธีดำเนินการต่อใบอนุญาต 2 ปีเบื้องต้น อาจมีการเปลี่ยนแปลงของแต่ละสำนักงานจัดหางานแต่ละพื้นที่ได้ เช่นบางพื้นที่อาจใช้รูปถ่ายกิจการ / ใบวางหลักประกัน / ใบแจ้งออกใช้เมื่อเวิร์คขาดในบางพื้นที่ / ใบแจ้งเข้าใช้เมื่อจะต่อ2ปีเข้านายจ้างใหม่หรือนายจ้างเปลี่ยนที่อยู่เป็นต้น

       ทั้ง 3 ขั้นตอนต้องทำให้เสร็จก่อนใบอนุญาตทำงานหมดอายุ เพราะถ้าใบอนุญาตทำงานหมดอายุแล้ว บางเขตพื้นที่ของสำนักงานจัดหางาน จะไม่ยอมดำเนินเรื่องให้ ท่านอาจต้องกลับไปทำ MOU ใหม่ และมีการเสียค่าปรับด้วย เนื่องจากวีซ่าขาด ค่าปรับวันละ500บาท สูงสุด20,000บาท ถ้าผู้ประกอบการท่านใดมีลูกจ้างเป็นแรงงานต่างด้าวหรือตัวลูกจ้างเอง ลองสำรวจเอกสารของตัวเองให้ดี ดูว่าใกล้หมดอายุแล้วหรือยัง ถ้าใกล้ครบ 2 ปี ให้รีบดำเนินการก่อนหมดอายุ 1 เดือน อย่าปล่อยจนเหลือเวลาน้อย เดียวสุดท้ายจะต้องมาเสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น