แรงงานต่างด้าว แย่งงานคนไทยจริงหรือ

ถ้าเราลองมองย้อนกลับไป รายได้หลักของประเทศไทยได้มาจาก ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการเป็นหลักของจีดีพีในประเทศ
ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันเราประสบปัญหาเรื่องโรคไวรัสโคโรน่า หรือ covic 19 ทำให้สภาพเศรษฐกิจโดยเฉพาะ ภาคบริการ โรงแรม ท่องเที่ยว กระทบหนัก ไม่มีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้ามา และไม่มีแสงสว่างว่าปัญหานี้จะสิ้นสุดเมื่อไรตราบใดที่เรายังไม่มีวัคซีนรักษาโรค ธุรกิจที่พึ่งพิงรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะธุรกิจภาคบริการน้อยใหญ่ ยังไม่มีทางออก และแนวโน้มที่จะลดพนักงาน หากขาดการแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที และจะเป็นปัญหาเกี่ยวเนื่องไปยังธุรกิจอื่นๆ ในประเทศ เนื่องจากการที่คนตกงานทำให้กำลังซื้อภายในประเทศลดลง เพราะคนตกงานขาดรายได้ และเป็นประเด็นอ่อนไหว ลุกลามไปยังประเด็น ไม่รับแรงงานต่างด้าวเพื่อสงวนงานให้คนไทยที่ตกงานได้ทำงาน

ซึ่งจะเห็นได้ว่ารัฐบาลไม่มีการพูดถึงประเด็นเรื่องการจัดการแรงงานต่างด้าวเลย นับตั้งแต่เกิดวิกฤตที่ผ่านมาเข้าเดือนที่ 4 แล้ว แถมยังปล่อยให้อยู่ในสถานะคลุมเครือไม่มีทิศทาง ทั้งที่ลืมไปว่าเครื่องจักรหารายได้เข้าประเทศที่สำคัญ อีกเครื่องจักรหนึ่ง คือ ภาคอุตสาหกรรม และ เกษตร ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบของประเทศเรา เพราะประเทศอื่นๆ สถานการณ์ยังไม่ดี ต้องเปิดๆ ปิด ๆ ผลิตได้ไม่เต็มที่ ต่างจากของเรา เราสามารถผลิตได้เต็มที่ แต่ขาดปัจจัยที่สำคัญ คือ แรงงาน และที่ขาดแคลนมากคือ งานที่ไม่มีคนไทยทำ คือ งานกรรมกร

แล้วทำไมไม่ใช้แรงงานไทยที่ตกงานแทน

แรงงานไทยที่ตกงานส่วนใหญ่มาจาก ภาคบริการและเกี่ยวเนื่อง การสงวนงานให้แรงงานไทย กลุ่มนี้โดยหวังว่าจะมาทำงานแทนแรงงานต่างด้าว ไม่ใช่ความเข้าใจที่ถูกต้อง ถ้าคนที่ทำธุรกิจจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า อยากจ้างคนไทยแต่คนไทยไม่ทำและหายาก การที่คนไทยไม่ยอมทำงานทั้งที่ตำแหน่งยังว่างงาน ไม่ใช่ว่าเค้าเลือกงาน แต่เราเคยคิดหรือไม่ว่างานที่ทำเหมาะกับคนไทยหรือไม่ ประเทศไทยมีคนที่จบระดับปริญญาและวุฒิการศึกษาจำนวนมาก เนื่องจากนโยบายเรียนฟรีของรัฐและประเทศไทย เป็นประเทศที่มีงบการลงทุนเกี่ยวกับการศึกษาจำนวนมากมีงบประมาณเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ ถ้าเปรียบเทียบการลงทุนเงินเรื่องการศึกษากับรายได้เฉลี่ยที่ได้รับก็นับว่าเราขาดทุนและไม่ควรอย่างยิ่งที่จะเอาแรงงานไทย ไปทำงานในระดับกรรมกร

ฉะนั้นไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมแรงงานไทยถึงไม่ยอมไปทำงานระดับแรงงาน ถึงทำก็ทำแค่ชั่วคราว เพื่อประทังชีวิตให้รอด พอได้สิ่งที่ดีกว่าก็ไป แล้วมันยุติธรรมกับนายจ้างผู้ประกอบการหรือไม่ ที่ต้องเสียต้นทุนการฝึกงาน รับคนงานเข้าๆออกๆ งานไม่ต่อเนื่อง ผลิตได้ไม่เต็มที่

ที่สำคัญประชากรยุคเบบี้บูม ช่วงอายุระหว่าง 55 ปีขึ้นไป เป็นประชากรที่มีจำนวนสัดส่วนมากที่สุด กำลังเข้าสู่วัยสูงอายุ และเรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบในไม่ช้า ยิ่งซ้ำเติมภาวะขาดแคลนแรงงานเข้าไปอีก ประชากรไทยในวัยทำงาน ก็ต้องทำงานเลี้ยงดูตนเอง อีกส่วนหนึ่งก็ต้องเลี้ยงดูผู้สูงอายุในประเทศ แรงงานไทยจึงต้องเป็นแรงงานที่ต้องใช้ให้คุ้มค่าที่สุด ใช้งานระดับแรงงานฝีมือและพัฒนาให้มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวที่สูงขึ้น ไม่ใช่ให้มาทำงานเป็นกรรมกรแทนแรงงานต่างด้าว

ประชากรใน20ปี
ประชากรไทยในอีก 20 ปี

เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องมาคิดว่าจะสร้างงาน หรือ จะฝึกฝีมือแรงงานไทยด้านใด ให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาดแรงงานในยุค New Normal ถ้ารัฐยังไม่เข้าใจ ก็เป็นการยากที่จะทำให้คนในประเทศเข้าใจ ว่าเครื่องจักรสำคัญอีกตัวของเศรษฐกิจไทยในภาคอุตสาหากรรม และ เกษตร ก็จะทำงานได้ไม่เต็มที่ เพราะขาดแคลนแรงงาน ภาคการส่งออกที่ควรจะเป็นตัวช่วยพยุง ในสภาวะที่ประเทศอื่นๆ ผลิตได้ไม่เต็มที่ แต่เรายังผลิตได้ สิ่งที่เรียกว่าโอกาส เราจะปล่อยมันไปหรือไม่ “ถ้าเรายังไม่ยอมรับปัญหาว่าเราขาดแคลนแรงงานระดับ กรรมกร ไม่ใช่งานที่คนไทยจะทำ”