สวัสดีเพื่อนสมาชิกทุกท่าน ก่อนอื่นต้องแสดงความยินดีที่กลุ่มมีสมาชิกทะลุ 7 หมื่นคน กลุ่มนี้ก็ยังมีวัตถุประสงค์เหมือนเดิมคือ ช่วยเหลือแบ่งปันความรู้กัน และเราคงต้องอยู่ด้วยกันไปอีกนาน ตราบใดที่ประเทศเรายังขาดแคลนแรงงาน
สิ่งนึงที่ผมอยากจะแชร์ในแง่การทำงานของ บริษัทนำเข้า เราเป็นตัวกลางระหว่างรัฐกับนายจ้าง ณ วันนี้ภาครัฐพยายามทุกวิถีทาง เพื่อกระตุ้นให้นายจ้างนำแรงงานไปต่อใบอนุญาตทำงานที่จะหมดเดือน มีค นี้ ตั้งแต่มาตรการประชาสัมพันธ์ จนถึง มาตรการออกตรวจ แต่ยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร ซึ่งผมจะสรุปปัญหาที่ผมมองดังนี้
1 การใช้ระบบออนไลน์ ในระยะเวลากระชั้นชิดเกินไป ปกติการขึ้นระบบใช้งาน ต้องเผื่อเวลาอย่างน้อย 3 เดือน เพื่อทดสอบระบบ และ เพื่อให้ผู้ใช้ได้เกิดการเรียนรู้ ทั้งเจ้าหน้าที่ นายจ้าง บนจ และ เผื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด เช่น ความถูกต้องของข้อมูล เท่าที่ผมรับมาประมาณ 10-15 เปอร์เซนต์ ข้อมูลไม่มีหรือไม่ตรง โดยเฉพาะกลุ่มที่เปลี่ยนนายจ้างบ่อยๆ ซึ่งต้องแก้ปัญหาโดยการไปจัดหางานพื้นที่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ช่วยแก้ไขข้อมูล แต่ก็ยังมีบางกรณีที่จัดหางานพื้นที่เองก็ไม่สามารถแก้ไขได้ หรือหาสาเหตุไม่ได้ ตรงจุดนี้ถ้าเป็นนายจ้างทั่วไปคงไปไม่ถูกและเสียเวลามากกว่าการยื่นแบบปกติ การจ่ายเงินก็เหมือนกันในแง่ของนายจ้างรายใหญ่หรือบริษัทนำเข้า ที่ต้องนำเอกสารไป ร้อยๆ รายให้พนักงานเซเว่น คีย์ ใช้เวลานานมาก 3 ชม และต้องไปช่วงเวลา เที่ยงคืน เพราะกลางวันพนักงานไม่มีเวลามาทำให้เรา ระบบก็คงต้องปรับปรุงกันต่อไปครับ พวกเราเป็นรุ่นบุกเบิกก็ต้องแก้ปัญหากันไป
2 การต่อใบอนุญาตครั้งนี้ อนุญาตแค่นายจ้าง กับ บริษัทนำเข้า สิ่งที่คนคาดว่า บริษัทนำเข้าคงทำกำไรได้เยอะกับการต่อบัตรครั้งนี้ จริงๆ แล้ว บนจ ส่วนใหญ่ไม่ได้มีลูกค้าในกลุ่มนี้เลย ลูกค้าส่วนใหญ่ของ บนจ คือ นายจ้างที่ทำ MOU คนที่ถือฐานลูกจ้าง นายจ้าง ของกลุ่มนี้ คือ โบรคเกอร์อิสระ โบรคเกอร์เฉพาะกิจ การตัดคนเหล่านี้ออก ต้องใช้เวลากว่า บนจ จะปรับตัวมาหาลูกค้า กว่าลูกค้าจะรู้จักกับ บนจ นายจ้างส่วนมากยังไม่ทราบเลยว่า บนจ คือใคร เพราะปกติทำกับโบรคเกอร์จนเคยชินทำทุกปี และก็ไม่รู้จะใช้ บนจ ไหนอีก บาง บนจ ก็ไม่รับงานเข้าศูนย์อีก ไม่รับข้ามเขตอีก ต้องใช้เวลาเรียนรู้ และที่สำคัญบางโบรคเกอร์ ก็รับลูกค้าไว้ แต่ยังไม่สามารถเข้าศูนย์ได้ เพราะตัวเองพาเข้าดำเนินการเองไม่ได้
3 ความชัดเจนของกลุ่มที่แจ้งออกเกิน 15 วัน จริงแล้วทางกรมจัดหางานก็ชัดเจนว่า ต้องให้นายจ้างไปทำ MOU ใหม่ แต่เนื่องจากพฤติกรรมที่ผ่านๆ มาทางกรมมักจะเปลี่ยนแปลงตลอด เมื่อเวลาใกล้ๆ ถึงก็จะอนุโลมให้ขึ้นคนใหม่เปลี่ยนนายจ้างได้ ทำให้นายจ้างเองก็รอด้วยความหวังและแม้แต่ บนจ เองก็ไม่กล้าแนะนำลูกค้า เพราะพอกรมเปลี่ยนนโยบาย ลูกค้าก็จะต่อว่าเรื่องค่าใช้จ่ายที่แพงกว่า โดยเฉพาะ MOU พม่าที่เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด ผมประมาณได้ว่าเกือบครึ่งมีปัญหานี้ ส่วนหนึ่งก็จะเริ่มทำ MOU ไปแล้ว แต่กรมก็ไม่มีตัวเลขการกลายสภาพของพวกนี้ อีกส่วนหนึ่งคือ นั่งรอคอยด้วยความหวัง ว่าทางรัฐบาลจะช่วยอนุโลมให้เข้าศูนย์ได้
4 สำคัญที่สุด สภาพทางเศรษฐกิจ จะเห็นว่าค่าใช้จ่ายของการตรวจลงตราวีซ่า เพิ่มจากเดิม 500 เป็น 1900 บาทและได้แค่ 1 ปี การวางหลังประกันจากเดิมไม่เคยเก็บ ก็มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีก 1000 บาท ตอนนี้ไปทางไหนก็มีคนบ่นว่าเศรษฐกิจไม่ดี ลำพังแค่เอาตัวรอดเฉพาะค่าใช้จ่ายในธุรกิจก็ไม่ค่อยไหวแล้ว โดยเฉพาะกลุ่ม SME ที่ขาดแคลนเครื่องจักรทดแทนคน ขาดแคลนเงินทุน และสภาวะโลกที่กระทบธุรกิจบริการโดยเฉพาะการท่องเที่ยว